การให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ
ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ตระหนักถึงบทบาทสำคัญในการดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบผ่านการให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ลูกค้าเพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนร่วมกัน
มาตรฐานการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ
ธนาคารได้รวมความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลเข้าไว้ในแนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยงของธนาคารรวมถึงการพิจารณาด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลเข้าไว้ในกระบวนการประเมินและอนุมัติสินเชื่อ ทั้งยังมุ่งสร้างความแข็งแกร่งให้กับแนวทางในการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ ตลอดจนได้กำหนดกรอบการดำเนินงาน นโยบาย และมาตรฐานเพื่อรวมการประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล โดยได้รับการสนับสนุนทรัพยากรตามโครงสร้างการควบคุมองค์กรโดยใช้หลักการ Three Lines Model
นโยบายการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ
ธนาคารมีการนำแนวปฏิบัติด้านการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบมาใช้ตั้งแต่ปี 2560 และยังคงพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เพื่อให้สอดคล้องและมุ่งเน้นกับแนวการปฏิบัติที่เป็นเลิศอย่างต่อเนื่อง
นโยบายการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบของธนาคารมีผลบังคับใช้กับลูกค้าสินเชื่อ Wholesale Banking ซึ่งได้แก่ ลูกค้าสินเชื่อทุกรายในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ (Corporate Banking) กลุ่มธุรกิจขนาดกลาง (Commercial Banking) และรวมถึงกิจกรรมทางด้านตลาดทุน โดยได้มีการกำหนดรายละเอียดไว้ในนโยบายสินเชื่อของกลุ่มยูโอบีประเทศไทย เพื่อให้มั่นใจว่ามีการพิจารณาด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลในกระบวนการประเมินและการอนุมัติสินเชื่อ ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวยังได้ระบุถึงบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบอย่างชัดเจนเพื่อให้สามารถนำไปปฏิบัติใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านโครงสร้างการควบคุมโดยใช้หลักการ Three Lines Model ที่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการธนาคารยูโอบี ประเทศไทย
หลักการและข้อห้าม
นโยบายการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบของธนาคารกำหนดให้ลูกค้าต้องดำเนินการดังต่อไปนี้
- ปฏิบัติตามกฎระเบียบและกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลในประเทศที่ลูกค้าดำเนินธุรกิจอย่างเคร่งครัด
- มุ่งมั่นดำเนินนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืนและ/หรือมีกระบวนการในการไม่จัดซื้อจัดจ้างจากแหล่งที่มาที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งได้
- ใช้หรือกำลังอยู่ในขั้นตอนเตรียมการใช้ระบบบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมเพื่อตอบสนองต่อความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมในการดำเนินการและ/หรือในโครงการต่างๆ
นอกจากนี้ นโยบายการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบของธนาคารยังได้กำหนดข้อห้ามในการให้สินเชื่อแก่บริษัทดังต่อไปนี้
- ประกอบธุรกิจหรือมีโครงการที่คุกคามคุณค่าความเป็นสากลที่โดดเด่น (outstanding universal value) หรือเอกลักษณ์เฉพาะของแหล่งมรดกโลกของยูเนสโก พื้นที่ชุ่มน้ำตามอนุสัญญาแรมซาร์ ป่าที่มีคุณค่าด้านการอนุรักษ์สูง หรืออาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธ์
- มีส่วนร่วมในการทารุณสัตว์และการค้าขายสิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธ์ตามที่ได้ระบุไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์
- ไม่มีมาตรการในการบริหารจัดการหรือบรรเทาความเสี่ยงเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ ดิน และน้ำ ซึ่งอาจส่งผลกระทบทางลบต่อระบบนิเวศทางบกและทางทะเล
- มีส่วนร่วมในการขูดรีดแรงงาน ซึ่งรวมถึง การใช้แรงงานบังคับ แรงงานเด็ก อ้างอิงตามมาตรฐานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ
- ประกอบธุรกิจที่ละเมิดสิทธิชนพื้นเมือง
- ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการถางที่ดินโดยการเผาในที่โล่ง
ทั้งนี้ ข้อห้ามในการให้สินเชื่อเหล่านี้เป็นคำมั่นสัญญาของธนาคารที่ครอบคลุมในหลายมิติ มีผลบังคับใช้กับลูกค้าใหม่และลูกค้าปัจจุบันทุกราย และช่วยสนับสนุนความพยายามของธนาคารในการเสริมสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืนผ่านการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ
กระบวนการประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล
ภายใต้นโยบายการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ กำหนดให้เจ้าหน้าที่สินเชื่อดำเนินการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะของลูกค้าใหม่และลูกค้าปัจจุบันทุกราย ในระหว่างกระบวนการ onboard ลูกค้าและการทบทวนสินเชื่อประจำปี โดยลูกค้าจะได้รับการประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลที่มีนัยสำคัญ ตลอดจนขีดความสามารถ ความมุ่งมั่น และผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืน ทั้งนี้ ธนาคารได้พัฒนารายการประเมินและตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลเพื่อช่วยเจ้าหน้าที่สินเชื่อ ในการระบุ ประเมิน และทบทวนความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล
ในการระบุ วัดผล และบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลในพอร์ตโฟลิโอของธนาคารให้ดียิ่งขึ้น ธนาคารได้จัดกลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก คือกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง กลาง และต่ำ ซึ่งการจัดกลุ่มจะพิจารณาจากลักษณะความเสี่ยงที่มีอยู่ รวมถึงความเสี่ยงที่อาจยังคงเหลืออยู่ในการดำเนินกิจการหรือธุรกิจของลูกค้า โดยความเสี่ยงที่อาจยังคงเหลืออยู่จะพิจารณาจากแนวนโยบายและมาตรการในการลดหรือการบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีอยู่นั้นๆ
1. การขออนุมัติสินเชื่อ
ปฏิบัติตามข้อกำหนดตามหลักการและข้อห้ามที่ครอบคลุมหลายมิติของธนาคารยูโอบี ประเทศไทย
ลูกค้าทุกรายได้รับการคัดกรองความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาลที่มีนัยสำคัญ
กระบวนการการติดตามความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล
ธนาคารมีการติดตามความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลในระดับลูกค้าและระดับพอร์ตโฟลิโอ
การติดตามในระดับลูกค้า
ธนาคารสร้างการมีส่วนร่วมกับลูกค้าในเชิงรุกและร่วมมือกันเพื่อปรับปรุงการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล โดยธนาคารมีการติดตามการดำเนินงานของลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ ผ่านการประเมินและการทบทวนข่าวที่เกี่ยวข้องด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลเป็นประจำ ทั้งนี้ กรณีที่ลูกค้ามีเหตุกรณ์ที่เกี่ยวกับด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลที่มีนัยสำคัญ จะได้รับการทบทวนในทันทีเพื่อประเมินว่าความเสี่ยงดังกล่าวได้รับการแก้ไขและบริหารจัดการได้อย่างเหมาะสมหรือไม่
ธนาคารกำหนดให้ลูกค้าแก้ไข หากมีการดำเนินงานที่ไม่สอดคล้องกับนโยบาย ให้สำเร็จในระยะเวลาที่เหมาะสมโดยมีเจ้าหน้าที่สินเชื่อทำหน้าที่ในการติดตามความคืบหน้า อย่างไรก็ตาม หากธนาคารพิจารณาแล้วว่าลูกค้าไม่สามารถหรือไม่มีความต้องการที่จะบริหารจัดการเกี่ยวกับผลกระทบเชิงลบจากการดำเนินธุรกิจของตนอย่างเพียงพอ ธนาคารก็พร้อมที่จะทบทวนหรือประเมินความสัมพันธ์หรือปฏิเสธการทำธุรกรรมกับกลุ่มลูกค้าเหล่านี้
การติดตามในระดับพอร์ตโฟลิโอ
ธนาคารจัดให้มีการรายงานต่อผู้บริหารระดับสูงอย่างสม่ำเสมอเกี่ยวกับสถานะความเสี่ยงต่ออุตสาหกรรมที่มีความอ่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล การดำเนินธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนลูกค้าที่ได้รับการตรวจสอบอย่างเข้มข้นจากเหตุกรณ์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล
กระบวนการอนุมัติสินเชื่อด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล
ผู้อนุมัติสินเชื่อมีกระบวนการในการทบทวนคำขอสินเชื่อเมื่อการประเมินทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลตามข้อกำหนด โดยผู้อนุมัติสินเชื่อจะอนุมัติคำขอสำหรับกรณีลูกค้าที่มีระดับความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลที่ธนาคารยอมรับได้ ทั้งนี้ อาจมีการส่งธุรกรรมที่มีความเสี่ยงสูงในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความอ่อนไหวไปให้คณะกรรมการบริหารธนาคารยูโอบี ประเทศไทย เพื่อทำการทบทวนเพิ่มเติม
นโยบายการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบของธนาคารอ้างอิงมาตรฐานและอนุสัญญาสากล เช่น มาตรฐานขององค์กรเจรจาระหว่างประเทศว่าด้วยปาล์มน้ำมันยั่งยืน (Roundtable on Sustainable Palm Oil) องค์การพิทักษ์ป่าไม้ (Forest Stewardship Council) อนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก (World Heritage Convention) แนวปฏิบัติที่เป็นเลิศของอุตสาหกรรมของบรรษัทการเงินระหว่างประเทศ (International Finance Corporation) และเครื่องมือวิเคราะห์ฝุ่นควันของ ABS (ABS Haze Diagnostic Kit)
ธนาคารตระหนักดีว่า ภาคการเงินมีบทบาทที่สำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและในการตอบสนองต่อความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญอันเกิดจากธรรมชาติและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ดังนั้น ธนาคารจึงได้ทบทวนนโยบายการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบและนโยบายสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเฉพาะอย่างสม่ำเสมอท่ามกลางการพัฒนาการทางสังคมและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียที่มีการเปลี่ยนแปลง
นโยบายสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเฉพาะ
ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเฉพาะที่มีลักษณะความเสี่ยงสูงทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เพื่อเป็นแนวทางในการประเมินลูกค้าสินเชื่อที่จัดอยู่ใน 8 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความอ่อนไหว
กรอบการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม
เพื่อให้สอดคล้องกับแนวนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การดำเนินธุรกิจสถาบันการเงินโดยคำนึงถึงมิติด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ได้กำหนดกรอบการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม โดยได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการธนาคาร ทั้งนี้ กรอบการบริหารจัดการดังกล่าวมุ่งประเด็นหลักไปที่การบริหารจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีเนื้อหาครอบคลุมการกำกับดูแล นโยบาย และกระบวนการควบคุมที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมในระดับพอร์ตโฟลิโอ ระดับธุรกรรม และระดับคู่สัญญาที่เกี่ยวกับกิจกรรมการให้สินเชื่อและรวมถึงกิจกรรมทางด้านตลาดทุนของธนาคาร
แง่มุมหลักของกรอบการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมของธนาคารยูโอบี ประเทศไทย
การบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลในโครงการต่างๆ
ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ได้นำหลักการอีเควเตอร์ (Equator Principles หรือ EP) ซึ่งเป็นกรอบการบริหารจัดการความเสี่ยงที่สถาบันการเงินต่างๆ ทั่วโลกใช้เพื่อกำหนด ประเมิน และบริหารจัดการความเสี่ยงทางด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมในโครงการต่างๆ โดยธนาคารมุ่งมั่นดำเนินการตามมาตรฐานสากลในการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะและตรวจติดตามโครงการต่างๆ สอดคล้องกับข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง เช่น IFC Performance Standards และแนวปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพและความปลอดภัยของกลุ่มธนาคารโลก
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับธุรกรรมตามหลักการอีเควเตอร์ของธนาคารยูโอบี ประเทศไทย
การสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสีย
ธนาคารมุ่งมั่นในการมีส่วนร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมและมีส่วนร่วมกับภาครัฐ เพื่อร่วมพัฒนาระบบการเงินให้มีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น ทั้งยังได้สร้างการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียหลัก ซึ่งรวมถึงลูกค้า พนักงาน นักลงทุน ชุมชน และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่าธนาคารสามารถตอบสนองต่อความคาดหวังที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอของผู้มีส่วนได้เสียในกลุ่มต่างๆ และมีความเท่าทันกับการพัฒนาการในกลุ่มอุตสาหกรรมนั้นๆ
การเสริมสร้างขีดความสามารถ
ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ให้ความสำคัญยิ่งกับการเสริมสร้างขีดความสามารถด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลให้มีความเข้มแข็ง โดยพนักงานธนาคารทุกคนได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับหลักการ นโยบาย และกระบวนการในการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ และได้ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรออนไลน์เกี่ยวกับการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ นอกจากนี้ ธนาคารยังมีการเข้าร่วมการสัมมนาเชิงปฎิบัติการและการประชุมด้านความยั่งยืนเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับแนวปฎิบัติที่เป็นเลิศด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลอีกด้วย